มีคำพูดว่าอีกไม่นานมหาวิทยาลัยจะเจ๊ง จะไม่มีคนเรียน
แต่ถ้าสังเกตดูดีๆแล้วจะมาจากคำพูดของเจ้าของพวกแพลทฟอร์มที่ทำคอร์สออนไลน์ของฝรั่งซะเป็นส่วนมาก
อันที่จริงถ้าเราฟังผ่านๆ เราก็จะคล้อยตามคำพูดหรือกระแสโฆษณาของเขาไปทั้งหมด
อันที่จริง ตอนแรกก็เคยเชื่อคำโฆษณาฝรั่งทั้งหมดเหมือนกัน เช่น ตอนมี social network ใหม่ๆ มีคนบอกว่า social network มาแล้ว เวป portal จะเจ๊ง แต่พอมาดูหลังๆจริงๆ คือ เวป pantip, dek-d ก็ยังอยู่ได้
แต่ถ้ามานั่งคิดดีๆแล้ว มหาวิทยาลัยของเราแล้วยังมีข้อแตกต่างที่เป็นข้อดีที่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยเมืองนอกและพวกคอร์สออนไลน์ได้อยู่พอสมควร เช่น
1) หลักสูตรมหาวิทยาลัย bundle สิ่งที่ควรรู้ในตำแหน่งงานนั้นมาให้หมดแล้ว
ถ้าเรียนคอร์สออนไลน์ ต้องไปงมอีก ว่าหน้าที่นี้ต้องรู้ความรู้อะไรบ้าง ต้องไป take course ไหนบ้าง ซึ่งบางทีก็จะตกๆหล่นๆ ไม่ครบ ที่แย่ที่สุด คือ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตำแหน่งที่ตัวเองอยากไปทำต้องรู้อะไรบ้าง
แต่หลักสูตรมหาวิทยาลัยคือจัดคอร์สมาแล้วเป็นชุด คือ ถ้ารู้ตามนี้ อย่างน้อยการตัดสินใจพื้นฐานที่ทำ ก็ไม่ควรผิดพลาด และสามารถต่อยอดจากพื้นฐานนั้นได้
จริงๆการรู้กับไม่รู้นั้นสำคัญ การไม่รู้อะไรบางอย่าง อาจทำให้การตัดสินใจอะไรบางอย่างเขวไปจนทำให้บริษัทเจ๊งไปเลยก็มีตัวอย่างมาให้เห็นแล้ว
เคยเจอคนที่จบมาไม่ตรงสาย บางคนก็ไปโฟกัสในสิ่งที่ไม่ควรต้องไปโฟกัสตรงนั้นก็ได้ หรือบางคนก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมในส่วนที่คนที่จบมาตรงสายสามารถตอบได้ทันที แต่ไม่ได้บอกว่าจบไม่ตรงสายไม่ดี แค่คิดว่า ความรู้อาจจะขาดไปไม่ครบเท่านั้นเอง
2) สอนโดยคนท้องที่ ที่เข้าใจบริบทคนท้องที่
ตั้งแต่อดีตมาบริษัทญี่ปุ่นในไทยต้องส่งหัวมาจากทางญี่ปุ่นมาคุมลูกน้องคนไทย แต่ผู้นำฮอนด้าเคยบอกว่า ต้องให้คนท้องที่เป็นหัวในไทยต่างหาก เพราะคนท้องที่เข้าใจคนท้องที่มากกว่าคนข้างนอก ในหนังสือของผู้บริหารฮอนด้าบอกว่า บริษัทฮอนด้าจึงมีหัวเป็นคนไทย
ตำราฝรั่งเป็นบริบทของฝรั่ง ซึ่งไม่ตรงกับท้องที่ของเราเท่าไหร่ จนกระทั่งมีอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นประโยชน์กับทางโน้น แต่ทางเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะไปทำงานที่โน่น เช่น คอร์ส Supply Chain ของฝรั่งเอ็มไอที สอนว่า จะส่งสินค้าจากจีน เข้าเมกาอย่างไร มีการแนะนำท่าเรือของเมกาว่ามีกี่ท่าเรือ อะไรบ้าง ทางตะวันออกมีอะไรบ้าง ถ้าจะเข้าทางตะวันตกมีอะไรบ้าง มีบอกศูนย์การกระจายสินค้าที่สำคัญ ตั้งอยู่ตรงไหน หรือแม้กระทั่ง มาตรฐานภาษีของเมกา ในการคิดภาษีรัฐกับภาษีประเทศ กฎหมายสวัสดิการภาษีของเมกา คือ ถ้ารู้ก็ดี แต่จะทำให้เสียเวลาและงงเปล่าๆ เวลาเอากลับมาใช้งานที่เมืองไทยก็มานั่งงมอีกว่าอันไหน match อันไหนไม่ match
จะมีใครเข้าใจคนท้องที่เท่ากับคนท้องที่เอง
3) ตำราฝรั่งน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง
จนบางทีคิดไปว่าเขียนหนังสือให้มันหนาๆเพื่อที่จะได้ขายแพงๆหรือเปล่า บางหนังสือใช้ศัพท์ยากอีก ไม่ได้อ่านวรรณกรรมเชคสเปียร์ซะหน่อย
แล้วก็เกลียดมากที่หนังสือที่พล่ามไปเรื่อย ยกตัวอย่างนึงบรรยายยาวเหยียด ยาวไปทั้งบท คิดจะเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ คิดจะพูดอะไรก็คือพูดออกมาใน paragraph เลย เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอะไรคือสิ่งที่โจทย์ให้มา อะไรคือสิ่งที่มึงคิดคำนวณเพิ่มเข้าไปกันแน่ อันที่สมมติใหม่นี่ยังไปใช้สมมติฐานอันไหนในของเดิมได้บ้าง เพิ่มจนงงว่าตกลงเงื่อนไขอันเก่านี่อันไหนอยากให้มีอยู่ อันไหนไม่อยากให้มีแล้ว
คอร์สฝรั่งบางคอร์สดีหน่อยสรุปมาให้ แต่ก็ยังพิสูจน์สูตรที่ไม่ต้องรู้ก็ได้ไหม ทำให้เนื้อหาดูเยิ่นเย้อ ไม่ตรงกับการนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ คนฟังงงว่าตรงไหนสำคัญ ตรงไหนไม่สำคัญกันแน่ เพราะตอนบรรยายดูเหมือนทุกอย่างจะสำคัญไปทั้งหมด
แต่สำหรับอาจารย์ไทย หรือหนังสือไทย จะดีกว่า เพราะเนื้อหาจะเป็นลักษณะสรุปจากความเข้าใจจากหนังสือหลายๆเล่ม สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ตรงใจยุคที่อะไรรวดเร็ว
ที่มาที่ไป ถ้ารู้ก็ดี แต่การนำไปใช้แล้วประยุกต์ จะดูสำคัญกว่า ซึ่งการรู้ที่มาที่ไป หลายๆครั้งก็ไม่ได้ทำให้เราประยุกต์ได้ดีขึ้นเท่าไหร่
ในอดีตเราเข้าใจว่าการรู้ที่มาที่ไปจะทำให้เราประยุกต์นวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาได้ แต่จริงๆแล้วดูเหมือนจะไม่ใช่แบบนั้น เท่าที่สังเกตมานวัตกรรมไม่ได้เกิดจากการประยุกต์ที่มาที่ไปอันนั้น แต่มาจากการทำสิ่งนั้นด้วยวิธีที่ต่างออกไปไม่เหมือนเดิมเลยต่างหาก
4) คอร์สออนไลน์ฝรั่งเก่า (มาก) บางคอร์สเป็นคอร์สมหาวิทยาลัยดังที่โน่น ที่เปิดให้เข้าไปฟังฟรี แต่เป็นคอร์สเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ขนาดหนังสือประกอบคือยังเป็นพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีด หรือ ถ้าหนังสือประกอบก็คือหนังสือเมื่อ 10 ปีก่อน (แต่ก็ดีที่แอบเข้าไปดูตำราฝรั่งเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้รู้ว่าฝรั่งสอนให้นักเรียนของเขาตีตลาดโลกตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว)
แต่ถ้าคอร์สที่เปลี่ยนเทอมต่อเทอม อาจารย์ผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ดีกว่า คอร์สออนไลน์ที่อัพไว้นิ่งๆไว้อย่างนั้น หรือ คอร์สออนไลน์อัพที่อัพเดตเข้าไปจนคอร์สบวมเป็น 100 กว่าคลิป มีทั้งเก่าๆใหม่ๆปนกันมั่วไปหมด
5) วินัย
เข้าใจว่าคนยุ่ง ไม่มีเวลา บางคนก็ซื้อหนังสือมาดอง แต่การบังคับให้เรียนตามเวลาในหลักสูตรชัดเจน การส่งการบ้านในเวลาที่ชัดเจน การบังคับให้อ่านหนังสือสอบในเวลาที่ชัดเจน จะทำให้เรามีวินัย
เคยได้หนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง ถ้าคิดว่าอ่านเองจะใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะอ่านจบ เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง และ ต้องใช้สมองในการทำความเข้าใจ ถึงแม้ว่าหนังสือจะมีคลิปแถมมาด้วย แต่การจะผ่านไปแต่ละคลิปแต่ละบท ต้องใช้พลังสมอง จนต้องบังคับตัวเองให้ดูคลิปนึงจบแล้วต่ออีกคลิปหนึ่ง ดูคลิปหนึ่งก็เหนื่อยแล้วไปอู้ กว่าจะดูจบก็น่าจะ 2-3 ปี บางคนอาจดูไม่จบก็ได้
แต่การเรียนที่มหาวิทยาลัย บังคับให้เราเข้าใจมันภายใน 2-3 เดือน เพราะว่ามีสอบ มี quiz
คอร์สออนไลน์ ก็เช่นกัน ส่วนมากคอร์สที่ประสบความสำเร็จในการเรียนสำหรับเรานี่คือ คอร์สสั้นๆ คอร์สมี 1 คลิปจบ แต่ส่วนใหญ่คอร์ส 1 คลิปจบจะเป็นคอร์สสอนกว้างๆ ไม่ได้ครอบคลุมเนื้อหามาก
ไอ้คอร์สยาวๆ หลายๆตอนนี่ กว่าจะเริ่มอันนึงได้คือเหนื่อย กว่าจะเริ่มคลิปใหม่ได้คือเหนื่อย บางอันคนทำคลิปก็ขยันทำใส่เข้าไปเหลือเกิน คอร์สนึง 100 กว่าคลิป ใครจะไปดูหมด การมีเวลาการเรียนการสอนจำกัดในมหาวิทยาลัยนับเป็นข้อดี เพราะ อาจารย์ได้เลือกสิ่งที่สำคัญจริงๆ เข้ามา
บางคอร์สออนไลน์บังคับให้เริ่มตามเวลานี่จริงๆความรู้สึกมันควรจะเหมือนกันกับคอร์สมหาวิทยาลัย แต่ทำไมรู้สึกน่ารำคาญกว่าก็ไม่รู้ อาจจะเพราะว่า คิดว่ามึงเป็นคลิปอยู่แล้วจะมาเปิดเป็นรอบทำไม บางทีเราเองก็ไม่มีวินัยพอที่จะไปรอให้คอร์สออนไลน์มันเริ่ม ไม่มีวินัยพอจะทำการบ้านส่ง และ กระทั่งดูไม่จบก็มี
เหนื่อยละ แค่นี้ก่อน อย่าไปเชื่อโฆษณาชวนเชื่อของแพลทฟอร์มคอร์สออนไลน์ฝรั่งมากน้ะจ้ะ
ความคิดเห็น